อีซี่ แอร์ไลน์ เปิดตลาดใหม่ ชูเครื่องเล็กเชื่อม “เมืองหลัก-เมืองรอง”

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบิน Cessna ซึ่งเป็นเครื่องบินขนาดเล็ก โดย Textron Aviation ในประเทศ และเห็นโอกาสในการขยายฐานธุรกิจสู่สายการบิน เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีสายการบินที่ให้บริการเครื่องบินขนาดเล็กเชิงพาณิชย์

โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนบริษัท อีซี่ แอร์ไลน์ จำกัด พร้อมทั้งเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 95 ล้านบาท เป็น 200 ล้านบาท เพื่อมาดำเนินธุรกิจสายการบินโดยตรง

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “พลเอก ศุภกร สงวนชาติศรไกร” ประธานที่ปรึกษา และ “ธานี ธราภาค” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน และกรรมการผู้จัดการ สายการบินอีซี่ แอร์ไลน์ (Ezy Airlines) บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ถึงแผนกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงาน ไว้ดังนี้

“พลเอกศุภกร” บอกว่า หลังจากที่บริษัททำการศึกษาตลาดเที่ยวบินพาณิชย์โดยเครื่องบินขนาดเล็กมา 2-3 ปี พบว่าในภูมิภาคภาคใต้ของประเทศไทยมีโอกาสสูงมากสำหรับธุรกิจสายการบิน เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่ต้องเดินทางโดยรถยนต์และรถไฟผ่านระยะทางรวมกว่า 1,300 กิโลเมตร และเป็นเส้นตรงยาวคดเคี้ยว รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกตลอดปีทำให้การเดินทางต้องใช้ระยะเวลานาน

ชี้เครื่องบินเล็กคือ Blue Ocean

จึงมองว่าการให้บริการเที่ยวบินด้วยเครื่องบินขนาดเล็กจะตอบโจทย์การเดินทางของคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และนักธุรกิจ ที่ต้องการความสะดวกและลดเวลาเดินทางข้ามจังหวัดให้ใช้เวลาไม่เกิน 60 นาที

โดยเชื่อว่าตลาดเซ็กเมนต์ดังกล่าวนี้จะเป็นโอกาสในตลาดน่านน้ำใหม่ (Blue Ocean) ที่สร้างมูลค่าให้ทั้งบริษัท นักธุรกิจ ตลอดจนคนในพื้นที่ และสามารถต่อยอดสู่โอกาสธุรกิจใหม่

พร้อมให้ข้อมูลว่า สายการบินอีซี่ แอร์ไลน์ (Ezy Airlines) มีแผนให้บริการทั้งเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และเที่ยวบินประจำ (Schedule Flight) ได้รับมอบใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน (AOL) จากกระทรวงคมนาคม เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566

และคาดว่าจะได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประมาณเดือนกรกฎาคม 2567 นี้

วางเป้า 5 ปี มีเครื่องบิน 9 ลำ

โดยเครื่องบินลำแรกเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2566 เป็นเครื่องบิน Cessna 208B Grand Caravan Ex รองรับผู้โดยสารได้ 12 ที่นั่ง ซึ่งในระหว่างรอใบ AOC นี้ เครื่องบินของเราถูกใช้สำหรับฝึกอบรมนักบินและกัปตันในเส้นทางหัวหินสู่ภาคใต้ และอยู่ระหว่างดำเนินการจดทะเบียน

ส่วนเครื่องบินลำที่ 2 จะเข้ามาเดือนมกราคม 2568 และลำที่ 3 จะเข้ามาในช่วงปลายปี 2568 ตามลำดับ จากนั้นจะมีเครื่องบินเข้ามาเพิ่ม 1 ลำ ในทุก ๆ 6 เดือน

ทั้งนี้ ตามแผนการดำเนินงานในช่วง 5 ปีแรก สายการบินอีซี่ แอร์ไลน์ จะมีเครื่องบินประจำฝูงบินรวม 9 ลำ รวมมูลค่ากว่า 1,500 ล้านบาท โดยจะมีทั้งเครื่องบินรองรับผู้โดยสาร 12 ที่นั่ง และรุ่นใหม่ขนาด 2 เครื่องยนต์ รองรับผู้โดยสาร 19 ที่นั่ง และรุ่นต่อ ๆ ไปอาจเป็นเครื่องบินรุ่นที่รองรับผู้โดยสารได้จำนวนมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์เส้นทางที่มีดีมานด์สูง

ปักหมุดหาดใหญ่ฮับบินภาคใต้

ขณะที่ “ธานี ธราภาค” ซีอีโอฝ่ายการเงินและกรรมการผู้จัดการ สายการบินอีซี่ แอร์ไลน์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทมีแผนเปิดให้บริการสายการบินอีซี่ แอร์ไลน์ ทันทีหลังจากได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ด้วยวิสัยทัศน์ “เป็นสายการบินระยะสั้น เพื่อเชื่อมจังหวัดภาคใต้ภายใน 60 นาที” ภายใต้สโลแกน อีซี่แอร์ไลน์ ง่ายทุกการเดินทาง Make Your Journey Easy

โดยมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตผ่านการเปลี่ยนวิถีการเดินทางของคนในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการลดระยะเวลา และเพิ่มความสะดวกในการเดินทางข้ามจังหวัด สร้างแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ

ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทั้งนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจได้เข้าถึงศักยภาพที่แท้จริงของพื้นที่ภาคใต้ และสามารถส่งเสริมไปยังระดับประเทศ โดยใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นศูนย์กลางการบิน (Hub)

ยันบินชาร์เตอร์ไฟลต์ ก.ย.-ต.ค.นี้

“ธานี” บอกว่า สายการบินจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลต์ สำหรับการบริการแก่ผู้สนใจและนักลงทุนในช่วงประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 นี้ โดยจะใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นฮับการบินใน 4 เส้นทาง ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เบตง (ยะลา) และนราธิวาส

รวมทั้งมีแผนหาพันธมิตรทางธุรกิจจากทั้งนักธุรกิจที่สนใจ กลุ่มผู้ประกอบการการท่องเที่ยว โรงแรม และโรงพยาบาล เพื่อเพิ่มโอกาสในสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงแผนการตลาดในการจัดแพ็กเกจพิเศษร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม ธุรกิจรถเช่า เรือโดยสาร ธุรกิจในชุมชน เพื่อเพิ่มความสะดวกและคุ้มค่าในการเดินทางให้แก่ลูกค้า

รวมถึงกลุ่มนักลงทุนที่มองเห็นโอกาสของตลาด ซึ่งเป็นเป็นตลาดน่านน้ำใหม่ (Blue Ocean) และมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต โดยในช่วงเริ่มต้นนี้ลูกค้าหลักคือ กลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งใช้เป็นทางเลือกในการให้บริการลูกค้าที่เดินทางเพื่อการรักษาพยาบาล กลุ่มนักธุรกิจทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และกลุ่มคนทำงาน

เปิดเที่ยวบินประจำ ก.ค. 68

สำหรับความพร้อมในการให้บริการเที่ยวบินในรูปแบบเที่ยวบินประจำ (Schedule Flight) นั้นต้องรอรับเครื่องลำที่ 2 เข้ามาประจำฝูงบินและฝึกอบรมนักบินเพิ่มเติมก่อน โดยเฟสแรกจะเน้นเชื่อมโยงจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้เป็นหลัก และให้บริการพร้อมกันสู่ 4 จุดหมายปลายทางหลัก ได้แก่ เบตง (ยะลา) สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และภูเก็ต ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป

จากนั้นจะทยอยเพิ่มสู่นราธิวาส กระบี่ และตรัง รวมประมาณ 12-14 เที่ยวบิน/เส้นทาง/วัน

“ทุกเมืองที่เราบินเป็นเมืองที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง โดยข้อมูลของปี 2562 ระบุว่า หาดใหญ่ (สงขลา) มีประชากร 1.4 ล้านคน มีนักท่องเที่ยว 10.5 ล้านคน มีผู้โดยสารเดินทางโดยเครื่องบิน 3.1 ล้านคน สุราษฎร์ธานี มีประชากร 1.07 ล้านคน มีนักท่องเที่ยว 7.6 ล้านคน มีผู้โดยสารโดยเครื่องบิน 11.3 ล้านคน เป็นต้น”

สำหรับระดับราคาบัตรโดยสารนั้นจะมีหลายระดับราคา อาทิ สำหรับเส้นทางที่ใช้เวลาการบินประมาณ 45 นาที ราคาบัตรโดยสารจะอยู่ในระดับประมาณ 1,900 บาทต่อที่นั่ง เส้นทางที่ใช้เวลาบิน 1 ชั่วโมง ราคาบัตรโดยสารจะอยู่ในระดับประมาณ 2,900 บาทต่อที่นั่ง

อาทิ เส้นทางหาดใหญ่-เบตง ราคาเฉลี่ยประมาณ 1,900-2,500 บาทต่อที่นั่ง เส้นทางหาดใหญ่-ภูเก็ต ราคาเฉลี่ยประมาณ 2,900-3,900 บาทต่อที่นั่ง เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับซีซันนิ่งของการเดินทางและระยะเวลาการจองล่วงหน้าด้วย

เชื่อมโยงทั่วประเทศได้ใน 3 ปี

จากนั้นในเฟส 2 สายการบินมีแผนขยายเส้นทางจากหาดใหญ่-หัวหิน และใช้หัวหินเป็นฮับขยายเส้นทางหัวหิน-สุวรรณภูมิ หัวหิน-สุราษฎร์ธานี หัวหิน-ภูเก็ต หัวหิน-อู่ตะเภา สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อู่ตะเภา-นครราชสีมา อู่ตะเภา-ดอนเมือง หลังจากนั้นก็จะขยับเชื่อมโยงเส้นทางสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเหนือต่อไป

โดยตั้งเป้าเชื่อมโยงเส้นทางเมืองหลักสู่เมืองรองทั่วประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย (ท่าอากาศยานลังกาวี ปีนัง และอีโป) และอินโดนีเซีย รวมถึง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ภายในปี 2570 หรือภายใน 3 ปี หลังจากเปิดให้บริการเที่ยวบินประจำ

พร้อมย้ำว่า จุดขายหลักของ “อีซี่ แอร์ไลน์” คือ การเป็นสายการบินเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งในตลาดยังไม่มีคู่แข่ง สามารถขึ้น-ลงได้ทั้งที่เป็นสนามบิน สนามหญ้า รวมถึงบนน้ำ และทำการบินได้ทุกสภาพอากาศ จึงเป็นเครื่องบินที่มีความปลอดภัยสูง จึงเชื่อว่าจะคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : อีซี่ แอร์ไลน์ เปิดตลาดใหม่ ชูเครื่องเล็กเชื่อม “เมืองหลัก-เมืองรอง”

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่

– Website : https://www.prachachat.net

2024-05-30T09:23:25Z dg43tfdfdgfd